คีเลชั่นบำบัด ปลอดภัย และใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยได้จริง

 จากรายงานการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ ของสมาคมการแพทย์อเมริกา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 (JAMA) เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ได้รับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน ร่วมกับคีเลชั่นบำบัด  มีแนวโน้มที่จะดีกว่าการรักษาด้วยยาแต่เพียงอย่างเดียว  ศ.นพ. เกอวาสิโอ ลามาส หัวหน้าแผนกอายุรศาสตร์โรคหัวใจแห่งศูนย์การแพทย์เมาท์ ไซนาย มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มลรัฐฟลอริดา ในฐานะหัวหน้าคณะนักวิจัย ได้ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาครั้งใหญ่ ของสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาว่า “คีเลชั่นบำบัด เมื่อให้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน มีความปลอดภัย และได้ผลจริง”
การศึกษาเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของคีเลชั่นบำบัด ใช้เวลายาวนาน 9 ปี ด้วยงบประมาณสูงถึง 31.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเริ่มต้นในปี 2003 คัดเลือกผู้ป่วยที่เคยมีอาการหัวใจกำเริบเฉียบพลัน อายุไม่น้อยกว่า 50 ปี และมีสภาพการทำงานของไตเป็นปกติ  โดยผู้ป่วยแต่ละคนจะได้รับคีเลชั่นบำบัด หรือ ยาหลอก เป็นจำนวน 40 ครั้ง โดยคีเลชั่นบำบัดถือเป็นการรักษาที่เป็นข้อโต้แย้ง และไม่ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ  แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของสหรัฐอเมริกาในปี 2007 พบว่ามีผู้ป่วยมากกว่า 100,000 คนต่อปี เลือกเข้ารับการรักษาด้วยคีเลชั่นบำบัด
       การศึกษาครั้งนี้ ต้องใช้อาสาสมัครจำนวน 1,708 คน ในศูนย์วิจัยจำนวน 134 แห่งทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และถือเป็นการศึกษาแบบปกปิดสองด้านขนาดใหญ่ครั้งแรก เพื่อการประเมินการรักษาแบบ คีเลชั่นบำบัด โดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยได้รับตัวยาอีดีทีเอ ร่วมกับวิตามินซี 7 กรัม วิตามินบี แร่ธาตุ และตัวยาอื่น ๆ จำนวน 10 ชนิดทางหลอดเลือดดำครั้งละสามชั่วโมง สัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกัน 30 ครั้ง และหลังจากนั้น ให้ครั้งหนึ่งห่างกันประมาณ 2-8 สัปดาห์ อีก 10 ครั้งรวมเป็น 40 ครั้ง  ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยได้รับแต่เพียงน้ำเกลือที่มีการปรับสีและกลิ่นให้เหมือนกับตัวยาคีเลชั่นบำบัด โดยทั้งผู้ป่วยและแพทย์ ไม่ทราบว่าใครได้รับยาจริง ใครได้รับเพียงน้ำเกลือ โดยผู้ป่วยที่ได้รับการศึกษาทุกคน ได้รับยาต่าง ๆเช่นยาลดไขมัน ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ และยาต้านการแข็งตัวของหลอดเลือดเป็นต้น และ 83 % ของผู้ป่วยได้รับการทำบัลลูนถ่างหลอดเลือดหัวใจ หรือใส่ขดลวด หรือผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจเรียบร้อยแล้ว   และได้ทำการรักษาไป จำนวน 55,222 ครั้ง     ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับคีเลชั่นบำบัดร่วมด้วย มีอัตราการเกิดอุบัติการณ์ทางหลอดเลือดและหัวใจน้อยลง 18%( ได้แก่ ภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน, หลอดเลือดสมองแตกตีบ, การกลับเข้าไปทำบัลลูน ขดลวดหรือบายพาส การเสียชีวิตและการป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการเจ็บหน้าอก ) น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจจะได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยพบอุบัติการณ์ทางหลอดเลือดและหัวใจ น้อยลง 39% สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงที่ผนังด้านหน้าของหัวใจ มีอุบัติการณ์ทางหลอดเลือดหัวใจลดลงถึง 37 % ในด้านคุณภาพชีวิต พบว่ากลุ่มที่ได้รับคีเลชั่นบำบัดจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2 ปี ในด้านของความปลอดภัย พบว่า คีเลชั่นบำบัดปลอดภัยจริงโดยไม่แตกต่างจากการให้น้ำเกลือธรรมดา 

 ดูรายละเอียดได้

 http://www.thaicam.go.th/index.php?option=com_content&view=section&layout=blog&id=18&Itemid=148

 http://jama.jamanetwork.com/article.aspx?articleid=1672238

 ที่มา : สำนักการแพทย์ทางเลือก
http://www.thaicam.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=530:2013-04-05-02-40-41&catid=38:2009-09-07-18-16-57&Itemid=68